ในวันที่ 28 สิงหาคม 2532 ศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เลขาธิการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยในสมัยนั้น ได้มีจดหมายที่ รวศท. 14-259/2532 เชิญชวนประธาน รองประธาน เลขาธิการของราชวิทยาลัย วิทยาลัย เลขาธิการแพทยสภา และสมาคมแพทย์ต่าง ๆ มาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันในเรื่องการหาสถานที่สร้างสำนักงานถาวร ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2532 ณ ภัตตาคารฮ่องกงการ์เด้นท์ ถนน พหลโยธิน โดยในวันนั้นมีผู้แทนจาก 9 สถาบัน มาร่วมประชุมทั้งหมด 11 ท่านด้วยกัน ได้แก่
- 1. นายแพทย์ธีระ ลิ่มศิลา ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
2. นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เลขาธิการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
3. นายแพทย์อติเรก จิวะพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการโครงการศูนย์สื่อการศึกษาสำหรับศัลยแพทย์
4. นายแพทย์กมล สินธวานนท์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
5. นายแพทย์วิฑูรย์ โอสถานนท์ ประธานวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
6. นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา กรรมการบริหารวิทยาลัยสูตินรีเแพทย์แห่งประเทศไทย
7. แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกสำรองสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
8. แพทย์หญิงเพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ์ กรรมการบริหารสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
9. นายแพทย์นิสิต ลีละวงศ์ นายกสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
10. นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล ประธานวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
11. นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการบริการวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
จากการประชุมในวันนั้นทุกสถาบันเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหาสถานที่เพื่อก่อตั้งที่ทำการถาวร โดยอาจอาศัย
- กระทรวงสาธารณสุข
- แพทยสมาคมฯ
- ดำเนินการด้วยตนเอง
นายแพทย์เอื้อชาติ ได้เสนอรูปแบบของการดำเนินการในรูปของอาคารชุด โดยเสนอรายละเอียด วิธีดำเนินการในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ จึงได้มีการตั้งกลุ่มทำงานขึ้นให้ชื่อว่า “กลุ่มประสานงานราชวิทยาลัย วิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพเวชกรรม” โดยตั้งให้นายแพทย์กมล สินธวานนท์ เป็นประธานกลุ่ม นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เป็นเลขานุการกลุ่ม นายแพทย์อติเรก จิวะพงศ์ และนายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการกลุ่ม ในการดำเนินงานเพื่อก่อตั้งที่ทำการถาวรนี้ ที่ประชุมพิจารณาถึง รูปแบบการดำเนินงาน 3 ประการ คือ
- อิงรัฐ, (แพทยสภา)
- กึ่งอิงรัฐ โดยขอซื้อหรือเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสร้างอาคารขึ้น
- ดำเนินการลงทุนร่วมกันในระหว่างวิทยาลัยและราชวิทยาลัย
ที่ประชุมเห็นสมควรให้ผู้แทนจากทุกสถาบันที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ได้นำข้อมูลไปเสนอต่อคณะ ผู้บริหารฯ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และขอให้แต่ละสถาบันทำหนังสือถึงเลขาธิการแพทยสภา แจ้งให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสำนักงานถาวรเป็นของตนเอง และขอให้แพทยสภาช่วยพิจารณาหาสถานที่ในการก่อสร้างอาคารถาวรนี้ ซึ่งอาจจะเป็นที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งท่านประธานกลุ่มได้เป็นผู้ติดตามประสานงานอยู่ตลอดเวลากับทางกระทรวงสาธารณสุข
21 พฤศจิกายน 2532 ได้มีการประชุมกันอีกครั้ง ณ ภัตตาคารฮ่องกงการ์เด้นท์ โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมดังมีรายนามต่อไปนี้
- 1. นายแพทย์กมล สินธวานนท์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และประธานการประชุม
2. นายแพทย์วิฑูรย์ โอสถานนท์ ประธานวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
3. นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา กรรมการวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
4. นายแพทย์นิสิต ลีละวงศ์ นายกสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
5. นายแพทย์อภิชัย วิธวาศิริ แทนประธานโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
6. แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
7. แพทย์หญิงเพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ์ นายกสำรองสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
8. นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล กรรมการบริหารวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
9. แพทย์หญิง ม.ร.ว.จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ประธานวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
10. นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เลขาธิการราชวิทยาลัยศัลย์ ฯ และเลขานุการกลุ่ม
11. นายแพทย์อติเรก จิวะพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ
12. นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการ
ประธานได้พยายามอย่างมาก ที่จะหาสถานที่โดยได้ไปดูที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และดำเนินการ ติดต่อขอที่ดินจากระทรวงสาธารณสุขประมาณ 5-10 ไร่
18 มกราคม 2533 ทุกสถาบันได้รับจดหมายที่ พส. 01/ว.51 จากเลขาธิการแพทยสภา (นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์) แจ้งให้ทราบว่าได้ทำหนังสือถึงท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอใช้ที่ดินจำนวน 5 ไร่ โดยตั้งอยู่ในที่ดินของโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมการแพทย์
29 มีนาคม 2533 เลขาธิการแพทยสภา (นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์) ได้มีหนังสือที่ พส.01.292 มายังเลขาธิการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือที่ สธ.0301/694 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้ไม่มีที่ดินว่างเปล่าในโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งเรื่องนี้ได้นำเสนอกรรมการแพทยสภา ในการประชุมเมื่อ 8 มีนาคม 2533 จึงได้มีมติให้ดำเนินการขอใช้ที่ดินบริเวณกระทรวง สาธารณสุขใหม่จำนวน 5 ไร่ เป็นที่ก่อสร้างอาคารของแพทยสภาแทนต่อไป แต่ขั้นตอนการดำเนินงานยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก
ในระหว่างนี้ท่านประธานและเลขานุการของกลุ่มก็ได้ใช้ความพยายามดำเนินการแสวงหาสถานที่อยู่ตลอดเวลา
23 ธันวาคม 2536 ในระหว่างการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษา ครั้งที่ 6 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยในสมัยนั้น ได้เชิญประธาน รองประธาน เลขาธิการ และกรรมการของสถาบันต่าง ๆ ที่ไปประชุมในครั้งนั้น เข้าร่วมประชุมกันที่ห้องเลอฟรองซ์ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 21 ท่าน ดังมีรายนามต่อไปนี้
- 1. นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
2. นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ เลขาธิการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
3. นายแพทย์สมหมาย ถุงสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
4. นายแพทย์สมพร โพธินาม กรรมการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
5. นายแพทย์กำแหง จาตุรจินดา กรรมการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
6. นายแพทย์ประพาส เพียรเลิศ สมาชิกราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
7. นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล กรรมการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
8. นายแพทย์สมโพธิ พุกกะเวส ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
9. แพทย์หญิงเพลินจิตต์ ศิริวันสาณฑ์ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
10. นายแพทย์ธารา ตริตระการ รองประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
11. แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ อดีตประธานวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
12. แพทย์หญิงวรรณา สมบูรณ์วิบูลย์ สมาชิกราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
13. นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
14. นายแพทย์สุนทร อันตรเสน เลขาธิการวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
15. นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
16. แพทย์หญิงสุจิตรา ประสานสุข กรรมการวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
17. นายแพทย์วิจิตร บุญพรรคนาวิก ประธานวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
18. แพทย์หญิงสมเนตร บุญพรรคนาวิก สมาชิกวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
19. นายแพทย์เทียม หล่อเทียนทอง ประธานฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ
20. พันเอกนายแพทย์ธนู ชูวิเชียร กรรมการสมาคมศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
21. นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส อุปนายกสมาคมประสาทศัลยแพทย์ฯ
จากการประชุมครั้งนี้มีข้อสรุปได้ว่า พลอากาศโทกิตติ เย็นสุดใจ ในฐานะนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้เสนอให้ใช้ที่ดินของแพทยสมาคมสำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำงานถาวรของกลุ่ม ซึ่งถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบด้วยจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นมีมติเห็นชอบด้วย ตามข้อเสนอของท่านนายกแพทยสมาคมฯ และได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการสร้างอาคารขึ้นประกอบด้วย
- นายแพทย์แพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ หัวหน้าคณะทำงาน (โสต ศอ นาสิก)
แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ คณะทำงาน (วิสัญญีแพทย์)
นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ คณะทำงาน (อายุรแพทย์)
นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ คณะทำงาน (ศัลยแพทย์)
นายแพทย์วิจิตร บุญพรรคนาวิก คณะทำงาน (พยาธิแพทย์)
แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร คณะทำงาน (กุมารแพทย์)
นายแพทย์กวี ทังสุบุตร คณะทำงาน (รังสีแพทย์)
นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล คณะทำงาน (สูตินรีแพทย์)
กรรมการชุดนี้เป็นชุดแรก แต่ต่อมาได้มีการตั้งกรรมการเกี่ยวกับการสร้างอาคารอีกหลายชุดตามความเหมาะสม
นอกจากนั้นได้มีการเสนอให้ตั้งเป็น “กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง” (Consortium of Medical Specialty Training Institution)
เพื่อจะได้มีพลังเป็นปึกแผ่นที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มสถาบันให้เป็นไปได้ดีขึ้นในทุก ๆ ทาง ทุกราชวิทยาลัยได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินกิจการในด้านต่าง ๆ หลายอย่าง งานของกลุ่มที่ได้ริเริ่มไปแล้ว เช่น ส่งผู้แทนของกลุ่มเข้าร่วมเป็นกรรมการแพทยสภา นอกจากนั้นเพื่อความพร้อมเพรียงและเสมอภาค ท่านประธานกลุ่มได้ดำเนินการขอปรับเปลี่ยน สถานภาพของวิทยาลัยจักษุแพทย์, โสต ศอ นาสิก, รังสี และพยาธิเป็นราชวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สถาปนาป็นราชวิทยาลัย เมื่อ 14 มิถุนายน 2538 และวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นราชวิทยาลัยลำดับที่สิบเอ็ด ที่ได้รับพระราชทานโปรด เกล้าฯ เป็นราชวิทยาลัยเมื่อ 27 พฤษภาคม 2539
ตั้งแต่พฤษภาคม 2537 เป็นต้นมา กลุ่มสถาบันฯ ได้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยมี นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ เป็นประธานกลุ่ม พลอากาศโทกิตติ เย็นสุดใจ เป็นรองประธาน นายแพทย์ธารา ตริตระการ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีฯ เป็นเลขาธิการ คณะกรรมการประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขาธิการของราชวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้ง 11 สถาบัน และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ จนกระทั่งปัจจุบันเลขาธิการกลุ่มเปลี่ยนเป็น พลตำรวจตรีนายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
คณะกรรมการโดยท่านประธานกลุ่มสถาบันฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยด้วย ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารและกราบบังคมทูลพระกรุณา อัญเชิญทรงเป็นองค์อุปถัมภ์อำนวยการจัดสร้างอาคาร ดังกล่าว เพื่อเป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539 เพื่อเป็นอาคารที่ทำการของทุกราชวิทยาลัยและสมาคม โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้างอาคารบนที่ดินของแพทยสมาคมฯ ณ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในความดูแลของมูลนิธิซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มูลนิธิ วชิรเวชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติ” และทรงพระกรุณารับเป็นองค์อุปถัมภ์ด้วย เนื่องจาก ทรงเล็งเห็นความสำคัญที่จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพต่อการรักษาพยาบาลประชาชนให้ดีขึ้น
เมื่อโครงการจัดสร้างอาคารเฉลิมพระบารมีได้เป็นที่รับทราบ บรรดาเพื่อนแพทย์จากสมาคม วิทยาลัยและราชวิทยาลัยต่าง ๆ ก็แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการ จึงมีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ได้กราบบังคมทูลองค์ประธานอำนวยการว่า เป็นอาคารเล็กสูง 8 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 3,400 ตารางเมตร รวม 5 ราชวิทยาลัย ใช้งบประมาณ 90-100 ล้านบาท ต้องปรับเป็น 12 ชั้น ขยายพื้นที่เป็น 32,000 ตารางเมตร มีราชวิทยาลัย 11 ราชวิทยาลัย และ 23 สมาคมแพทย์เฉพาะทางและแพทยสภา ซึ่งใช้งบประมาณถึง 440 ล้านบาท ประธานกลุ่มสถาบันฯ ได้นำความกราบบังคมทูลองค์ประธานอำนวยการอีกครั้ง ซึ่งได้ทรงแสดงความ ห่วงใยในความเติบใหญ่อย่างรวดเร็วของโครงการนี้
สำหรับอาคารนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณยิ่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามอาคารนี้ว่า “อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี” ซึ่งขณะนี้การดำเนินการ ก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทยของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสท่านหนึ่งของแพทยสมาคมฯ ได้ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่ง
ด้วยพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์ประธานอำนวยการ องค์ผู้ทรงทำให้บังเกิดแรงสนับสนุน ความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง สำนักงบประมาณ ฯลฯ ทำให้การดำเนินการก่อสร้างก้าวคืบไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน สามารถประกอบพิธีเสด็จ พระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ได้ในวันที่ 5 มกราคม พุทธศักราช 2539
ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย ยังได้รวมพลังกันจัดการประชุมทางวิชาการในระดับนานาชาติ เรียกว่า “การประชุมใหญ่ทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติ” เมื่อ 12-15 กรกฎาคม 2538 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จ ฯ มาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 2,000 คน มีบริษัท ห้างร้าน มาแสดงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และยามากถึง 200 กว่าบริษัท มีแพทย์ผู้ชำนาญการจากต่างประเทศมาร่วมเป็นวิทยากรทุกสาขาวิชาและยังได้สนับสนุนให้แพทย์เพื่อนบ้านเราได้แก่ ลาว, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม มาเข้าร่วมฟังการประชุมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น นับว่าเป็นการประชุมวิชาการที่ยิ่งใหญ่เป็นการเฉลิมฉลองที่สมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง
น้ำพระทัยแห่งความห่วงใยขององค์ประธานอำนวยการ มิได้หยุดนิ่ง ได้ทรงแสดงความเอื้ออาทรด้วยการมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดงาน “ร่วมวันเฉลิมขวัญพระภูมิพล” ในวันที่ 31 มีนาคม 2539 ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และที่ทำให้ทุกคนปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งก็คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์ประธานอำนวยการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ดารา นักแสดง นักร้อง จากค่ายต่าง ๆ คือ เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์, บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์, เจ เอส แอล, แกรมมี่ เอ็นเทอร์เทนเมนท์, นิธิทัศน์โปรโมชั่น, อาร์เอสโปรโมชั่น ฯลฯ
สำหรับ “อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี” นี้ นอกจากจะเป็นอาคารที่เป็นศูนย์รวมของทุกราชวิทยาลัย แพทยสภา สมาคมแพทย์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการรักษาพยาบาลประชาชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาอารยะประเทศแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งคือจะเป็นถาวรวัตถุเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลฉลองการครองราชสมบัติครอบ 50 ปี
เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับจารึกไว้ในประวัติความเป็นมาของอาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ผู้เขียนขอรวบรวมหลักฐานทางเอกสารต่าง ๆ เพื่อบันทึกไว้สำหรับให้แพทย์รุ่นหลังได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงมีต่อเหล่าแพทย์ทุกสถาบันเพื่อให้มีขวัญและกำลังใจในการพัฒนากระบวนการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์เสมอเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม
พร้อมทั้งผู้มีพระคุณทุกท่านทั้งฝ่ายรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน แพทย์ทุกท่าน เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจให้การสนับสนุนกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ฯ
ทั้งนี้หวังว่าปณิธานอันแรงกล้าของเหล่าแพทย์ทั้งหลาย ที่จะพัฒนากิจการแพทย์ และการสาธารณสุขของชาติให้เจริญรุดหน้าไป ทันยุค ทันสมัย เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งชาติ ตามรอยพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนก คงประสบผลสำเร็จดังที่ได้ปรารถนา และขอให้กิจการของกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ฯ เติบใหญ่และมั่นคงถาวรตลอดไป
ปัจจุบัน “อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี” เป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของวงการแพทย์สาขาต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ที่สามารถให้การต้อนรับเพื่อนแพทย์ชาวต่างประเทศ ผู้มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนสถานที่นี้ ทุกท่านชื่นชมที่ วงการแพทย์ไทยสามารถรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาอยู่ร่วมกันได้ พร้อมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากสถานที่นี้ร่วมกันได้หลายวัตถุประสงค์