แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ : : The Medical Association of Thailand

0
Rate this post
 

สกู๊ปพิเศษ

 
 

10 พฤศจิกายน 2548

วัยรุ่นเหงา … พาลพา ไปหาอบายมุข บุหรี่ – สุรา – ยาเสพติด
ถึงเวลา …สังคมร่วมแก้ไขก่อนสายเกินไป

จากผลการสำรวจการสูบบุหรี่ของนักเรียนนักศึกษา และพฤติกรรมปัญหาที่เกี่ยวข้อง ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ พบว่าเยาวชน นักเรียน นักศึกษาในปัจจุบันร้อยละ 71 มีปัญหาในการดำเนินชีวิตไม่ต่ำกว่า 1 ปัญหา จากปัญหา 9 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเที่ยวสถานบันเทิง เล่นการพนัน ใช้ยาเสพติด ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีเพศสัมพันธ์ ทะเลาะวิวาท และการฆ่าตัวตาย

“ ปัญหาวัยรุ่น ” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และถูกทับถมปัญหาไว้หลายชั้น จากการที่ถูกมองว่าวัยรุ่นกับปัญหาเป็นของคู่กัน ทำให้การจะหยิบยกปัญหาเหล่านี้มาพิจารณาหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง เป็นเรื่องสำคัญรองๆ จากปัญหาอื่นๆ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานที่ดูแลภารกิจด้านการ สวัสดิการของเพื่อนแพทย์ ซึ่งดูห่างไกลกับ “ ปัญหาวัยรุ่น ” กลับหยิบยกปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องรองๆ ของสังคมนั้น ขึ้นมาถกกันในเวทีประชุมวิชาการระดับอาเซียน ในงานประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปีของ แพทยสมาคมฯ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2548 เพื่อสะท้อนเรื่องราวของลูกหลานไทยในวันนี้ ให้สังคมร่วมรับรู้และตระหนักถึงภาวะเสี่ยงต่อการล่มสลายทางวัฒนธรรมหากยังไม่มีการรุกไล่หาทางแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ศ . นพ . ประกิต วาทีสาธกกิจ หนึ่งในวิทยากรที่จะมาพูดเรื่องของสถานการณ์ “วัยรุ่นกับบุหรี่” ในการประชุมดังกล่าว เปิดเผยว่า
“ วัยรุ่นอยู่ในวัยที่อยากรู้อยากลอง โดยอาจจะเริ่มจากการสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะ ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูบแล้ว ยังนำไปสู่พฤติกรรมอื่น เช่น การดื่มเหล้า การเที่ยวกลางคืน การติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น โดยสถิติการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นปัจจุบันจะเริ่มที่อายุ 12 – 15 ปี สาเหตุจากเนื่องมาจาก ความไม่รู้จริง อยากทดลอง เลียนแบบกลุ่มเพื่อน ดารา นักแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีคนติดบุหรี่สูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งการแก้ไขปัญหาเราควรเริ่มจากครอบครัวที่ให้ความอบอุ่นกับเด็ก ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มศิลปินดารา เพราะมีอิทธิพลกับเด็กมาก และรัฐบาลควรมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหา จริงจังกับ มาตรการต่างๆที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การห้ามโชว์บุหรี่ตามร้านค้าทั่วไป การเพิ่มภาษีบุหรี่ให้สูงขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณคนสูบให้น้อยลง ”

ปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น ต้องลองไปถามไถ่ใจของวัยรุ่นกันดูบ้าง พวกเขาคิดอย่างไรกับพฤติกรรมต่างๆ ของการสูบบุหรี่ และจากการสอบถามมุมมอง ส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากยังไม่เกิดปัญหาหรือ ผลกระทบกับตัวเอง มีเพียง คุณแบงค์ งามอรุณโชติ เด็กอัจฉริยะ นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่านั้น ที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและเห็นความสำคัญร่วมแก้ไขอย่างจริงจังก่อนจะสายเกินไป
แบงค์ กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันว่า น่าสังเกตกลุ่มของผู้สูบเป็นวัยรุ่นมากขึ้น โดยมี Segment ของผู้สูบบุหรี่ในอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการทำ Marketing ของผู้ประกอบการ ทั้งสิ้น เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าใช้วิจารณญาณ ทำให้สามารถถูกโน้มน้าวหรือชักจูงด้วยสิ่งเร้าเหล่านี้ได้ง่าย “ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าหากเขาเห็นดาราหรือผู้ปกครองสูบบุหรี่ และเห็นว่าคนในสังคมก็ยอมรับได้ โดยที่เขาเหล่านั้นก็ยังคงเป็นแบบอย่างในสังคม เด็กวัยรุ่นก็จะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ใครๆ เขาก็ทำกัน เพราะฉะนั้นก็คงไม่ผิดที่เขาจะเลียนแบบหรือทำตามอย่างบุคคลเหล่านี้บ้าง และหากมองไปตามร้านค้าต่างๆ ก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่ามีซองบุหรี่วางขายอยู่หน้าร้านแทบทุกร้าน เพราะฉะนั้นภาพที่ ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ซื้อบุหรี่ไปสูบ มันจึงเป็นพฤติกรรมปกติวิสัยที่เห็นติดตาเด็กวัยรุ่นอย่างเราๆ อยู่ทุกวัน แต่นับตั้งแต่มีมาตรการลงโทษกับร้านค้าที่วางบุหรี่ไว้ ณ จุดจำหน่าย ผมก็คิดว่ามันสามารถช่วยได้ ถึงแม้ว่าในระยะสั้นนี้อาจจะไม่เห็นผลมากนัก แต่ก็จะทำให้ สัดส่วนของวัยรุ่นที่ติดบุหรี่นั้นลดลงได้”

จากการพูดคุยกับชายหนุ่ม อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนว่า
“ ผมเริ่มสูบบุหรี่ตอนม . ปลาย แรกๆสูบก็มีอาการเจ็บคอเหมือนกัน บางทีไอทั้งวันเลย แต่เพื่อนผมสิอาการหนักเพราะเค้าสูบมานานแล้ว วันนึงเราไปเตะบอลกัน เพื่อนคนนี้วิ่งๆอยู่ก็เกิดอาการเจ็บหน้าอกตรงลิ้นปี่และไออย่างแรง จึงไปปรึกษาหมอ หมอบอกว่าที่ปอดมีรูรั่วเล็กๆ เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะปอดของคนที่สูบบุหรี่จะบางกว่าปอดของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ฉะนั้นพอออกกำลังกาย ปอดเกิดการขยายจึงเกิดอาการ ช่วงนั้นหมอสั่งห้ามบุหรี่และไม่ให้ออกกำลังกายหักโหม ส่วนตัวผมไม่ค่อยกังวลกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่สักเท่าไหร่ เพราะผมยังดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดีด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ” ส่วนอีกหนุ่ม วัย 25 ปี กล่าวถึงมุมมอง ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ของเด็กวัยรุ่น – ผู้หญิง ว่า
“ เมื่อเห็นผู้หญิงสูบบุหรี่จะรู้สึกไม่ดี เพราะเสียบุคลิกภาพ เป็นคนที่ไม่รักดูแลตัวเองและคิดว่าตามกระแสเกินไป เด็กวัยรุ่นก็เช่นกัน เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะลองสิ่งที่เป็นอบายมุขเหล่านี้ วัยนี้เป็นวัยเรียน ต้องแสวงหาความรู้ให้ได้มากที่สุด ยังหาเงินเองไม่ได้และยังขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่ การที่จะนำเงินมาซื้อของพวกนี้มันไม่เป็นประโยชน์และไม่จำเป็น สาเหตุหลักๆ ที่วัยรุ่นติดบุหรี่มักจะมาจากเพื่อนยุ เพื่อนชวน สูบตามเพื่อน หรือความอยากรู้อยากลอง แต่พอลองแล้ว เลิกไม่ได้ คึกคะนองโดยไม่นึกถึงผลที่จะตามมา วิธีที่ผมใช้คือ คุยกับเพื่อน ไปดูหนังสักเรื่อง หรือเปิดเพลงเบาๆแล้วนอนพัก ตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ก็ควรขอคำแนะนำและคำปรึกษาจากคนรอบข้างที่เราไว้ใจ สิ่งเหล่านี้ช่วยได้ไม่มากก็น้อยครับ ”

ผู้ที่สนใจฟังการบรรยาย หัวข้อ “วัยรุ่นกับบุหรี่” สามารถเข้าร่วมฟังได้ในวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เวลา 1 2 . 0 0 – 1 3 . 3 0 น . ณ ห้องประชุมพัชรกิติยาภาฯ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ โดยสำรองที่นั่งได้ที่ โทรศัพท์ 0 2314 4333 และ 0 2318 8170 หรือ ติดตามข่าวสารได้ทาง www.medassocthai.org

—————————————————————-

ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ อุมา พลอยบุตร์, เรวดี ด้วงช่วย

โทร . 0-2691-6302-4 , 0-274 4961-2 , 0-2274-4782

mat – scoop news 3 /10- 1 1- 05