แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ : : The Medical Association of Thailand

0
Rate this post
 

สกู๊ปพิเศษ

 
 

10 พฤศจิกายน 2548

นักวิทยาศาสตร์ เผยผลการศึกษาผลกระทบจากมือถือ พบผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแนบหู มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับสมอง อาทิ มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ความจำเสื่อม แนะใช้สมอล์ทอล์กแทน เตือนประชากร 1.4 พันล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญภัยเงียบ … จาก “ มือถือ ” อุปกรณ์สื่อสารสำคัญในชีวิตประจำวัน ที่กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 20 ล้านคน

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นมากกว่าเครื่องมือที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร มีตัวเลือกที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ใช้ทุกรูปแบบ อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายรูป คาราโอเกะ เกมออนไลน์ ฯลฯ ข้อมูลข่าวสาร การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในแทบทุกสื่อ กระตุ้นและเร้าใจผู้บริโภคให้สรรหานำมันมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งกลายเป็นเรื่องของแฟชั่นไปแล้ว จนกลบกระแสข้อมูลข่าวสารเรื่องผลกระทบจากมือถือที่ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในระยะเวลานานๆ อาจจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายชนิด เช่น ปวดศีรษะ มะเร็งสมอง หูอักเสบ มะเร็งของ เม็ดเลือดขาว และความจำเสื่อม

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนโดยสื่อต่างๆมักจะไม่มีการยืนยันถึงที่มาของแหล่งข่าวที่สามารถอ้างอิงทางวิชาการได้ และยังไม่มีหน่วยงานใดที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ก่อให้เกิดข้อสงสัย และความตื่นตระหนกกับประชาชนเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนได้รับยังไม่ชัดเจนว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง และจะมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เนื่องจากมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม การดำเนินการแก้ไขปัญหาของแต่ละกลุ่มทำไปอย่างไม่เป็นระบบ และเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้มีผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจอีกด้วย มีรายงานทางการแพทย์หลายครั้งระบุว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้เป็นมะเร็งได้ ซึ่งเกิดจากการนำโทรศัพท์มือถือใส่ไว้บริเวณกระเป๋าเสื้อ เป็นได้ทั้งชายและหญิง และที่สำคัญ คลื่นจากโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสมองและสายตาด้วย อีกอย่างหนึ่งระวังเรื่องแบตเตอรณี่ที่อาจระเบิดได้ ซึ่งมีข่าวขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง รายงานของคณะกรรมการพิเศษ สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทโทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อทุกระบบ โดยศึกษาวิจัยการใช้โทรศัพท์มือถือผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว และได้ทยอยเปิดเผยรายงานวิจัยดังกล่าวออกมาเป็นระยะ ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนนี้นักวิจัยได้เปิดเผยผลการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ศึกษามานานกว่า 7 ปี พบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ของมนุษย์ ทำให้การซ่อมแซมดีเอ็นเอในร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ และมีความเป็นไปได้ว่าทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งที่สมอง จากการศึกษาดังกล่าว นักวิจัยได้นำไปศึกษาต่อในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งสมอง พบว่าเนื้องอกที่สมองมีความสัมพันธ์กับการใช้โทรศัพท์มือถือ กล่าวคือพบว่าผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกในสมองจะเป็นข้างเดียวกับข้างที่ใช้โทรศัพท์ ถ้าถือโทรศัพท์มือถือข้างขวาก็เป็นเนื้องอกที่สมองข้างขวา และยังพบว่าในเนื้องอกนั้นมีเซลล์ลักษณะพิเศษที่พบเฉพาะในผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ

พ.อ.นพ.สุรเดช จารุจินดา คณะกรรมการการจัดงานประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปี ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะบรรยาย ในหัวข้อ ผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือจริงหรือไม่ เปิดเผยว่า จากการสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง “ การศึกษาผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือ ” ของ สภาสมาคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ( สสวทท .) เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ได้สรุปผลกระทบโทรศัพท์มือถือออกมาว่า

โทรศัพท์มือถือใช้แนบไว้ที่หูครั้งละนานๆ เป็นเวลาหลายปี น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้โดยตรงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีรายงานการวิจัยในหลอดทดลองพบว่า คลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เกิดจากการ รับ – ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือซึ่งมีความถี่อยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟสามารถทำให้เกิดความร้อน และทำร้ายเซลล์ภายในเนื้อเยื่อบริเวณหู , ตา และสมอง

ผลกระทบในระยะสั้นผู้ที่ได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือจะทำให้เกิดอาการ ปวดหู ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มึนงง ขาดสมาธิ และเครียดเนื่องจากระบบพลังงานในร่างกายถูกรบกวน

สำหรับผลในระยะยาว คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมเนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย เกิดโรคมะเร็งสมองเนื่องจากเนื้อเยื่อสมองมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากปกติ และทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

นอกจากนี้ จากรายงานการสรุปดังกล่าว ระบุว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบจะมีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถผ่านกะโหลกศีรษะของเด็กเข้าสู่เนื้อเยื่อสมองได้ลึกกว่าของผู้ใหญ่ รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเติมน้ำมัน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ได้ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือทำให้เกิดประกายไฟที่จุดติดไฟกับน้ำมันได้

และ สำหรับวิธีการป้องกันอันตรายดังกล่าว ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องคุยนานให้สลับหูซ้ายหูขวา ควรใช้โทรศัพท์สายตรงจะปลอดภัยกว่า , ควรใช้อุปกรณ์ Small talk หรือ hand free ทุกครั้งเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือ , หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑ ขวบใช้โทรศัพท์มือถือ , หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ , หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเติมน้ำมันรถยนต์ , ปิดโทรศัพท์มือถือก่อน เข้าไปในบริเวณที่มีการรับจ่ายน้ำมันและก๊าซ บริเวณที่มีการขนย้ายและเก็บเชื้อเพลิง หรือสารเคมี , ไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือใส่กระเป๋ากางเกง หรือคาดเอว หรือแขวนไว้ช่วงหน้าอก เพราะมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาจากเครื่องมือถือตลอดเวลา อาจทำให้เป็นมะเร็งเต้านม และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

โทรศัพท์มือถือ ปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน ที่อาจเป็นตัวพาหะนำอันตรายสู่ผู้ใช้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่นิยม สื่อสารโดยผ่าน “ มือถือ ” คุณกำลังเข้าใกล้โรคร้ายมากมายที่จะเกิดขึ้นกับสมองของคุณ ผู้สนใจรายละเอียดของผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือ สามารถร่วมรับฟังการเสวนาได้ที่ การประชุมวิชาการ ครบรอบ ๘๔ ปี ของแพทยสมาคมฯ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ เวลา ๐๙ . ๐๐ – ๑๐ . ๑๕ น . ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สอบถาม รายละเอียด โทร . ๐ – ๒๓๑๔ – ๔๓๓๓ และ ๐ – ๒๓๑๘ – ๘๑๗๐ หรือ www.medassoc.thai.org

————————————- ———————————

ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์

โทร . 0-2691-6302-4 , 0-274 4961-2 , 0-2274-4782

 

mat – scoop news 4 /10-11-05